เกษตรกรรม » เลี้ยงไก่ดำภูพาน เลี้ยงง่าย แข็งแรงโตไว

เลี้ยงไก่ดำภูพาน เลี้ยงง่าย แข็งแรงโตไว

4 สิงหาคม 2023
849   0

เลี้ยงไก่ดำภูพาน เลี้ยงง่าย แข็งแรงโตไว

เลี้ยงไก่ดำภูพาน

เลี้ยงไก่ดำภูพาน


เลี้ยงไก่ดำภูพาน เป็นไก่ดำสายพันธุ์ใหม่ที่งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เริ่มต้นการพัฒนาไก่ดำสายพันธุ์ภูพานขึ้นตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยการนำไก่ดำ 5 ตัว เป็นไก่ดำลูกผสมไก่พื้นเมืองมาผสมพันธุ์ แบบ In Breeding การศึกษาและพัฒนาใช้ระยะเวลาทั้งหมด 3 ชั่วรุ่น จึงได้ไก่ดำที่ตรงตามลักษณะที่ต้องการคือ ขนดำ หนังดำ แข้งดำ เนื้อเทาดำ กระดูก เทาดำ และเป็นสายพันธุ์ที่ทนทานโรค ทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่าย กินเก่ง โตเร็ว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร



คุณลักษณะไก่ดำภูพาน

  • เพศผู้ น้ำหนักตัวเต็มวัยเฉลี่ย 2. – 3.0 กิโลกรัม มีความสมบูรณ์แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
  • เพศเมีย น้ำหนักตัวเต็มวัยเฉลี่ย 1.5 – 2.0 กิโลกรัม เริ่มออกไข่เมื่ออายุ 21 – 22 สัปดาห์ น้ำหนักไข่ฟองแรกเฉลี่ย 30-35 กรัม ให้ไข่ 4 ชุด/ปี ชุดละ 10 – 15 ฟอง/ตัว เปลือกไข่สีน้ำตาล มีความทนทานต่อโรคระบาด สามารถฟักไข่และเลี้ยงลูกเองได้

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ โดยใช้หลักเกณฑ์ดังนี้

  • ลักษณะพ่อพันธุ์จะต้องมีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง อายุตั้งแต่ 9 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี และมีน้ำหนักตั้งแต่ 2.5 กิโลกรัม ขึ้นไป
  • ลักษณะแม่พันธุ์จะต้องมีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง อายุตั้งแต่เดือนแต่ไม่เกิน 3 ปี เลี้ยงลูกเก่ง มีนิสัยไม่ดุร้าย หรือจิกตีลูกไก่ของตัวอื่น
  • พ่อพันธุ์ไก่ 1 ตัวสามารถคุมฝูงเพื่อผสมพันธุ์แม่ไก่ได้ไม่เกิน 6-10 ตัว และไม่ควรให้คุมฝูงนานเกินไปเพราะจะทำให้เกิดปัญหาเลือดชิดในฝูงได้

การเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์

ไก่สาวจะเริ่มไข่ฟองแรกเมื่ออายุประมาณ 6 – 7 เดือน เมื่อไก่เริ่มไข่ให้เปลี่ยนสูตร อาหารใหม่ให้มีโภชนะอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อไก่นำไปสร้างไข่ รวมทั้งเพิ่มแคลเชียมฟอสฟอรัส เพื่อนำไปสร้างเปลือกไข่ อาหารให้วันละ 90 – 100 กรัม มากกว่านี้ แม่ไก่จะอ้วนมากทำให้ไข่ลดลง ไก่พ่อพันธุ์ควรให้อาหารเช่นเดียวกับแม่พันธุ์ การให้อาหาร อยู่ระหว่าง 70 – 80 กรัม/ตัว/วัน

รูปแบบการเลี้ยงไก่

  • การเลี้ยงแบบปล่อย เป็นวิธีเลี้ยงไก่ปล่อยให้ออกหากินอย่างอิสระในตอนเช้า ผู้เลี้ยงอาจจะเสริมอาหารให้ในตอนเย็น ช่วยให้ไก่เจริญเติบโตได้ดีขึ้น และเล้าขนาดเล็กไว้ให้ไก่ได้หลับนอนเฉพาะกลางคืนการเลี้ยงแบบปล่อยนี้จะช่วยให้ไก่ได้ออกกำลังกายมีสุขภาพที่แข็งแรงแต่ต้องมั่นใจว่าพื้นที่ที่ปล่อยจะไม่มีไก่พื้นเมืองอยู่บริเวณใกล้เคียงเพราะอาจมีปัญหาในการผสมข้ามพันธุ์
  • การเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย เป็นการเลี้ยงที่พัฒนามาจากการเลี้ยงไก่แบบปล่อยมากักขังบ้างในบางช่วงโดยการสร้างเล้าไก่ให้มีขนาดกว้างขึ้นมีรั้วล้อมกั้นกันไม่ให้ไก่ออกไปหากินไกลๆ จัดหาน้ำและรางอาหารไว้ให้ไก่กินรูปแบบการเลี้ยงนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีการเลี้ยงที่ดี และเหมาะสมที่สุด
  • การเลี้ยงแบบขังเล้า โดยเกษตรกรต้องสร้างเล้าไก่ที่สามารถกันแดดกันลม และฝนได้ ควรมีรังไข่วางเป็นจุดตามมุมหรือฝาเล้าพร้อมอาหารและน้ำให้ไก่ได้กินตลอดเวลาการเลี้ยง แบบขังเล้าสามารถป้องกันโรคระบาดได้ดี

การฟักไข่ สามารถแบ่งได้ 2 วิธี

  • การฟักไข่โดยวิธีธรรมชาติ หรือการฟักไข่โดยแม่ไก่ เมื่อแไก่ดำภูพานอายุประมาณ 6 – 7 เดือน จะเริ่มให้ไข่ชุดแรกประมาณ 10 – 15 ฟอง/ตัว เมื่อแม่ไก่ไข่หมดชุดก็จะเริ่มฟักไข่ในขณะฟักไข่ระยะแรกแม่ไก่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในรังวางไข่ เมื่อระยะช่วงกไข่แม่ไก่จึงใช้เวลาฟักไข่เพิ่มมากขึ้น ขณะฟักไข่แม่ไก่จะทำการเขี่ยไข่ (กลับไข่) วันละประมาณ 6 ครั้ง เพื่อให้ไข่ทุกฟองได้รับความอบอุ่นจากการฟักใกล้เคียงกัน หลังจากฟักไข่ได้ 20 วัน ลูกไก่จะเริ่มเจาะเปลือก ในวันที่ 22 นำแม่ไก่และลูกลงจากรังฟักไข่ และขังสุ่มให้อาหาร และน้ำอย่างน้อย 7 วัน จึงปล่อยให้แม่และลูกหากินตามธรรมชาติ
    เลี้ยงไก่ดำภูพาน
  • การฟักไข่โดยใช้เครื่องฟัก หลังจากผสมพันธุ์และทำการเก็บรวบรวมไข่ได้ 7 วัน ก่อนนำไข่เข้าฟักต้องทำการคัดไข่ที่มีรอยแตกร้าว เปลือกไข่บาง ไข่ผิดรูปหรือไข่ ฟองที่เล็กเกินไปออกตรวจเช็คเครื่องฟักไข่ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เช่น อุณหภูมิตู้ฟัก 37.8 * C ความชื้นสัมพัทธ์ 60 % อุณหภูมิตู้เกิด 36.5 C ความชื้นสัมพัทธ์ 70 % เมื่อเก็บไข่สะสม ได้ 7 วัน ก็นำมาจัดเข้าเครื่องฟักซึ่งจะมีการกลับไข่ วันละ 6 ครั้ง (6 ครั้ง/ 24 ชั่วโมง)

ส่องไข่เมื่อนำไข่เข้าฟัก 7 วัน เพื่อนำไข่ไม่มีเชื้อและไข่เชื้อตายออกจากการฟักการ และส่องไข่เมื่อนำเข้าฟัก 18 วัน เป็นการส่องไข่ก่อนนำเข้าตู้เกิด หลังจาก อยู่ในตู้เกิด 3 วัน (วันที่ 21) ลูกไก่ก็เจาะเปลือกไข่ออกมาได้เก็บไว้ใน ตู้เกิด 1 วัน จากนั้น ในวันที่ 22 นำลูกไก่ออกจากตู้เกิดย้ายไปอนุบาล ในโรงเรือน อนุบาลต่อได้

เลี้ยงไก่ดำภูพาน

การเลี้ยงไก่เล็ก

กรณีใช้ตู้ฟักไข่หรือการแยกลูกไก่ออกจากแม่ไก่เพื่อให้แม่ไก่ไข่เร็วขึ้นหรือซื้อลูกไก่มาเลี้ยงลูกไก่ต้องการความอบอุ่นจึงจำเป็นต้องมีการกกไฟให้ลูกไก่โดยใช้หลอดไฟฟ้าขนาด 100 วัตต์ แขวนสูงจากพื้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และต้องระวังไม่ให้ลมโกรกลูกไก่และจะต้องมีอาหาร และน้ำให้กินตลอดเวลา พื้นคอกรองพื้นด้วยแกลบหนา 5 เซนติเมตร และเปลี่ยนแกลบทุก 1 เดือน

เลี้ยงไก่ดำภูพาน

การเลี้ยงไก่รุ่น

ไก่ช่วงอายุ 8 – 16 สัปดาห์ ไก่ช่วงนี้ไม่ต้องดูแลมากเพราะถ้าเลี้ยงแบบปล่อยไก่สามารถหาอาหารกินเองได้เพียง แต่ให้อาหารในตอนเช้า หรือเย็นเท่านั้นถ้าเลี้ยงเพื่อต้องการจำหน่ายเป็นไก่เนื้อจำเป็นที่จะต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหาร และน้ำเพื่อการเจริญเติบโตที่เร็วไก่อายุ 4 – 5 เดือน เป็นช่วงที่สามารถจับจำหน่ายเป็นไก่เนื้อได้น้ำหนักประมาณ 0.8 – 1.2 กิโลกรัม ซึ่งไก่มีขนาดและน้ำหนักตรงกับความต้องการของตลาด



การให้อาหาร

  • ให้น้ำสะอาดตั้งไว้ให้ไก่กินตลอดวัน และคอยเปลี่ยนน้ำทุก ๆ วัน
  • ให้อาหารเช้าและเย็น เพิ่มเติมจากอาหารที่ไก่หากินได้ตามธรรมชาติ เช่น ปลายข้าว รำข้าว ข้าวเปลือก อาหารไก่สำเร็จรูป
  • มีเปลือกหอยปั่นและเศษหินให้ไก่กินเพื่อเสริมแคลเซียมและช่วยบดย่อยอาหาร และให้หญ้าสดหรือใบกระดินสดให้ไก่กินทุกวัน

การสุขาภิบาล

  • ดูแลความสะอาดภาชนะอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในโรงเรือนและบริเวณใกล้เคียงด้วยน้ำสะอาดและยาฆ่าเชื้อโรคทุกวัน
  • ลักษณะโรงเรือนต้องระบายอากาศได้ดีป้องกันลมโกรก หรือฝนสาดด้านหน้าประตูเข้าโรงเรือนต้องมีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับจุ่มเท้าก่อนเข้าโรงเรือน
  • ไก่จะต้องได้รับอาหารและน้ำที่สะอาดในแต่ละวัน และพอดีกับความต้องการของไก่
  • ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงหรือมีการเคลื่อนย้ายไก่อาจป่วยได้ ควรละลายไวตามินให้ไก่กินทันที เพื่อให้ไก่แข็งแรงและมีสุขภาพดี
  • ทำการถ่ายพยาธิไก่ทุก 3 เดือน อย่างสม่ำเสมอ
  • ควรมีตู้ยาประจำในฟาร์ม เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุงและ ไวตามิน
  • ก่อนนำไก่จากภายนอกเข้ามาเลี้ยง ควรกักดูอาการก่อนอย่างน้อย 15 วัน ก่อนนำเข้ารวมฝูง

โรคที่สำคัญในสัตว์ปีก

 โรคขี้ขาว

สาเหตุ เชื้อแบคทีเรียพวกซัลโมเนลลา
การติดต่อ ตู้ฟักไข่ ตู้ฟัก เครื่องมือเครื่องใช้
อาการ  ไก่เล็ก รุนแรงเมื่อลูกไก่อายุได้ 3-4 วัน ท้องเสีย มีอุจจาระขาวติดกัน หงอย ซึม ขนยุ่ง หายใจหอบ จะตายเมื่ออายุ 7-12 วัน ตัวที่รอดจะแคระแกรน ไก่ใหญ่ มีอาการอักเสบของรังไข่ และท่อนำไข่
การป้องกัน ใช้ยาฟูราโชลิโน หรือยาประเภทซัลฟาบางชนิด

 โรคอหิวาต์

สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย คือ ปาสเจอเรลล่า
การติดต่อ การสัมผัส ทางน้ำ ทางอาหาร
อาการ มีชนิดรุนแรงและชนิดเรื้อรัง เป็ด ไก่จะตายอย่างรวดเร็ว เบื่ออาหาร ท้องเสียมีอุจจาระสีเขียว ปนเหลืองติดกั้น หงอย ซึม ขนยุ่ง หายใจหอบ หงอนและ เหนียงมีสีคล้ำ จะตายใน 2-3 วัน
การป้องกัน ยาซัลฟาควิน๊อกซาลิน หรือยาปฏิชีวนะ และการสุขาภิบาลสัตว์

โรคหวัดติดต่อ

สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย การติดต่อ การสัมผัส อากาศ
อาการ ไก่มีน้ำมูกน้ำตา หน้าบวม มีแผ่นฝ้าสีเหลืองคล้ายเนยเกิดขึ้นในปาก และจมูก เป็นมากตาจะแดง ใต้ตาบวม ยืนหลับตา ขนพอง อาจเกิดปอดบวม ทำให้ตายได้
การป้องกัน ใช้ยาปฏิชีวนะสเตรปโตมชิน หรือยาซัลฟา เช่น ซัลฟาโมโนเมท ท๊อกซิน และการสุขาภิบาลสัตว์

โรคนิวคลาสเซิล

สาเหตุ เชื้อไวรัส การติดต่อ การสัมผัส ทางน้ำ ทางอาหาร เครื่องมือเครื่องใช้
อาการ มีความรุนแรงของเชื้อแตกต่างกันดังนี้ ชนิดรุนแรงมาก ชนิดรุนแรง ปานกลาง ชนิดรุนแรงน้อย ชนิดรุนแรงมากจะทำให้ไก่ตายเร็ว การรับเชื้อเป็นเวลา 3-6 วัน จะทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจ ระบบประสาทร่วมกัน อาการทางระบบ หายใจไก่จะหายใจลำบาก อ้าปากหายใจ อาการทางระบบประสาทไก่คอบิดเดินหมุน เป็นวง หรือเดินถ้อยหลัง พร้อมกับมีอาการท้องร่วง อุจจาระเป็นสีเขียวไก่จะตายภายใน 2-3 วัน
การป้องกัน ไม่มียารักษาแต่มีการทำวัคนป้องกันโรค เน้นการสุขาภิบาล

โรคหลอดลมอักเสบ

สาเหตุ เชื้อไวรัส การติดต่อ ทางอากาศ
อาการ มีอาการคล้ายหวัดในลูกไก่อายุต่ำกว่า ๓ สัปดาห์ลูกไก่จะแสดงอาการ หลังรับเชื้อภายใน ๑๕ – ๑๖ ชั่งโมง อาการหายใจลำบาก มีเสียงครืดคราด ลูกไก่ จะตายเพราะมีเมือกใสอุดในหลอดลม โรคนี้มีอัตราการตายน้อย แต่มีผลกระทบต่อ รังไข่ ไขผิดปกติแม่ไก่ไข่ทำให้ไกใข่ลด ความเครียด สำเหตุสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงการจับไก่ไก่ได้กินอาหารไม่เพียงพอ การทำ วัคซีนไก่ การเคลื่อนย้ายสัตว์

ที่มา | งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
บ้านนานกเค้า หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000  โทรศัพท์: 042-747458-9 โทรสาร: 042-747460
FB: งานศึกษาและพัฒนาด้านปศสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ




บทความอื่นที่น่าสนใจ