เกษตรกรรม » ปลูกบวบเหลี่ยม ไว้กินเองง่ายๆ ปลอดภัยไร้สารพิษ

ปลูกบวบเหลี่ยม ไว้กินเองง่ายๆ ปลอดภัยไร้สารพิษ

19 ธันวาคม 2023
368   0

ปลูกบวบเหลี่ยม ไว้กินเองง่ายๆ ปลอดภัยไร้สารพิษ

ปลูกบวบเหลี่ยม

ปลูกบวบเหลี่ยม


บวบเหลี่ยม เป็นผักที่คนนิยมรับประทานกันอย่างมาก มีการเพาะปลูกกันตามบ้านเรือนต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก บวบจัดเป็นผักที่ให้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหารสูง สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้ม แกง ผัด หรือจิ้มน้ำพริก มีรสหวาน




สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

บวบเหลี่ยมสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด และดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตต้องค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย ในดินมีความชื้นสูงพอเหมาะสม่ำเสมอ ควรเป็นพื้นที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ในระหว่างการปลูก อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล

การเพาะเมล็ด

ทำการเพาะเมล็ดในกระบะเพาะ หรือเพาะกล้าในถุงพลาสติก โดยมีส่วนผสมของวัสดุเพาะ คือ ขุยมะพร้าว ถ่าน แกลบ และปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 1 : 1 : 1 ทำการดูแลรักษาโดยให้น้ำทุกวัน และให้ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ระยะเวลา 3-5 วันต่อครั้ง พอกล้ามีใบจริง 2-3 ใบหรืออายุประมาณ 10-15 วัน จึงทำการย้ายปลูก

การเตรียมดิน

บวบเหลี่ยมเป็นผักที่มีระบบรากลึกปานกลาง ควรขุดหรือไถดินลึกประมาณ 20-25 เชนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วคลุกเคล้าลงไปในดินโดยเฉพาะดินทรายและดินเหนียวต้องใส่ให้มาก เพื่อปรับสภาพของดินให้ดีขึ้นและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ต้องมีการย่อยดินและพรวนดินให้ละเอียดร่วนโปร่งพร้อมที่จะปลูกได้

การปลูก

ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ ระยะระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เชนติเมตร การปลูกให้หยอดเมล็ดพันธุ์โดยตรงลงในแปลงหลุมละ 4-5 เมล็ด ฝังให้ลึกลงไปในดินประมาณ 2-4 เซนติเมตร จากนั้นกลบเมล็ดด้วยดินร่วนหรือปุ๋ยคอกหนาประมาณ 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เมื่อต้นกล้างอกอายุได้ประมาณ 10-15 วัน หรือมีใบจริง 2-4 ใบ ให้ถอนแยกต้นที่อ่อนแอหรือต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ให้เหลือไว้หลุมละ 3 ต้น

การทำค้าง

เมื่อบวบเหลี่ยมเริ่มเลื้อยหรือเมื่ออายุประมาณ 15-20 วัน ควรทำค้างหรือร้านเพื่อให้บวบเลื้อยเกาะขึ้นไป การปลูกแบบปล่อยให้ต้นเลื้อยไปตามพื้นดินโดยไม่ทำค้างหรือร้าน จะทำให้ผลบวบมีรูปร่างงอโค้งไม่สวย ไม่เป็นที่นิยมของผู้ซื้อ การทำค้างให้บวบเหลี่ยมสามารถทำได้ 2 แบบ คือ

  • ปักไม้ค้างยาว คือการทำคานกลางยามแล้วทำการนำมามาปักทุกหลุมแล้วเอนปลายเข้าหากัน มัดไว้ด้วยกัน
  • ทำเป็นร้านโดยใช้ไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงพอประมาณ หรือระยะสูงพอเหมาะที่สะดวกต่อการทำงาน

นอกจากนี้อาจใช้ค้างธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เช่นไม้พุ่มเล็กๆ รั้วบ้าน ฯลฯ ซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกแบบสวนครัว

บวบเหลี่ยม

การดูแลรักษา

  • การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ไม่ควรให้บวบเหลี่ยมขาดน้ำโดยเฉพาะในระยะออกดอกและติดผล เพราะทำให้ดอกร่วงและไม่ติดผล ระบบกรให้นำอาจใช้วิธีการปล่อยตามร่องจะให้ผลดี และหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอยเพราะจะทำให้เกิดปัญหาโรคทางใบได้
  • การใส่ปุ๋ย บวบเหลี่ยมเป็นผักกินผล ควรให้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของธาตุไนโตรเจน 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน และโพแทสเซียม 1-2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21  หรือสูตรอื่นๆ และควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ยูเรียหรือแอมโมเนียมไนเตรทประมาณ 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตในช่วงแรก แต่ต้องระมัดระวังไม่ควรให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการเฝือใบ

การใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ใส่ครั้งแรกหลังการปลูกแบบรองพื้นแล้วพรวนดินกลบ และใส่ครั้งที่สองเมื่อบวบอายุประมาณ 20-30 วัน โดยใส่แบบโรยข้างลำต้นแล้วพรวนดินกลบ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนควรใส่เพียงครั้งเดียวแบบโรยข้าง เมื่อบวบอายุประมาณ 7-10 วัน

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวของบวบเหลี่ยมประมาณ 45-60 วันหลังจากหยอดเมล็ด ควรเลือกเก็บเกี่ยวผลขณะที่ยังอ่อนอยู่ เนื้อผลอ่อนนุ่มได้ขนาดพอเหมาะซึ่งผลจะมีขนาดยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ควรเก็บเกี่ยวก่อนที่ผลเริ่มแข็งและพองออก ไม่ควรทิ้งให้ผลแก่คาติดต้นเพราจะทำให้ผลผลิตลดลง

โรคและแมลง

  • โรคราน้ำค้าง สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis อาการเริ่มแรกจะพบเป็นจุดสีเหลืองซีดขนาดเล็กทางด้านหน้าใบ จุดดังกล่าวจะขยายออกเป็นรูปเหลี่ยมตามลักษณะของเส้นใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบในเวลาเช้าจะพบเขม่าสีเทาดำตรงบริเวณแผลนั้น ซึ่งเป็นส่วนของเชื้อและเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผลมีลักษณะแห้งยุบตัวลง เมื่อแผลรวมกันมากๆ จะทำให้เกิดอาการใบไหม้

การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดด้วยเมทาแลคซิลอัตรา 7 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เก็บใบแก่ๆ ที่แสดงอาการของโรคใส่ถุงพลาสติกแล้วนำไปเผาทำลาย นอกจากนี้ฉีดพ่นด้วย คลอโรทาโรนิลหรือแมลโคเซป ในอัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร




บทความอื่นที่น่าสนใจ