เกษตรกรรม » ปลูกมะพร้าวน้ำหอม พร้อมวิธีการดูแลรักษา

ปลูกมะพร้าวน้ำหอม พร้อมวิธีการดูแลรักษา

8 พฤศจิกายน 2022
554   0

ปลูกมะพร้าวน้ำหอม พร้อมวิธีการดูแลรักษา

ปลูกมะพร้าวน้ำหอม

ปลูกมะพร้าวน้ำหอม




มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าส่งออกหลายร้อยล้านบาทต่อปี และเป็นมะพร้าวพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ปัจจุบันจัดเป็นพืชสงวนห้ามส่งออกในรูปผลแก่ น้ำมะพร้าวมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย โดยความหอมนั้นมาจากละอองเกสรตัวผู้ที่มาผสม (xenia effect) ปัญหาที่พบในการปลูกคือ ความไม่สม่ำเสมอของความหวานและความหอม ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรจึงได้ปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมโดยเน้นที่คุณภาพของผลมะพร้าวอ่อน ด้านความหอมและความหวาน จนได้ต้นแม่ที่มีลักษณะดีเด่น คือ มีความหอมและมีความหวานของน้ำมะพร้าวระหว่าง 7.6- 9.0 องศาบริกซ์ โดยต้นแม่เหล่านี้สามารถนำมาขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนให้เพียงพอแล้วเผยแพร่ให้เกษตรกรได้ทันที

ปลูกมะพร้าวน้ำหอม

ส่วนที่รับประทานได้ของมะพร้าวน้ำหอม 100 กรัมให้พลังงาน 77 แคลอรี และประกอบด้วยความขึ้น 84.0 กรัมแคลเซียม 42.0 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10.3 กรัม ไขมัน 3.6 กรัม โปรตีน 1.4 กรัม ฟอสฟอรัส 56.0 มก. วิตามินซี 6.0 มก. ไนอาซีน 0.8 มก. วิตามินบี 1 0.04 มก. วิตามินบี 2 0.03 มก. เส้นใย 0.4 กรัม

ลักษณะประจำพันธุ์

มะพร้าวน้ำหอม จัดเป็นมะพร้าวกลุ่มต้นเตี้ย ลำต้นมีขนาดเล็ก ใบสั้นกว่ามะพร้าวพันธุ์ไทยทั่วไป อายุการออกจั่นจะเร็ว ในปีหนึ่งๆจั่นจะทยอยออกประมาณ 15-16 จั่น หรืออาจมากกว่านั้น ในแต่ละจั่นจะติดผลอยู่ระหว่าง 10-18 ผล ปัจจัยที่ทำให้มะพร้าวน้ำหอมให้ผลผลิตมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพดิน แหล่งน้ำ สภาพอากาศ และการดูแลรักษา ฯลฯ

การเลือกสภาพพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม

  • สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง การระบายน้ำในดินดี
  • ควรใกล้แหล่งน้ำ
  • ฝนตกกระจายสม่ำเสมอ
  • อุณหภูมิของอากาศอยู่ระหว่าง 20-29 C
  • ปริมาณแสงแดดเฉลี่ย 7.1 ชม./วัน

ระยะปลูก

พื้นที่ราบทั่วไป แบบสามเหลี่ยม แบบสี่เหลี่ยมด้านเท่า ระยะ6.0 x 6.0 , 6.5 x 6.5 เมตร
สภาพที่ลุ่มน้ำไม่ท่วมขัง ปลูกแบบยกร่อง ใช้ปลูกแบบแถวคู่และแถวเดี่ยว ระยะ 6.0 x 6.0 , 6.5 x 6.5 เมตร ระยะหลุมควรห่างจากขอบร่องน้ำประมาณ 2 เมตร

การเตรียมหลุมปลูก

ควรเตรียมหลุมในช่วงฤดูแล้ง หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขนาดหลุมควรกว้าง 1.0 x 1.0 x 1.0 เมตร แยกส่วนหน้าดินกับดินล่างออก ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน กันหลุมอาจรองด้วยเปลือกมะพร้าวช่วยในกรณีที่โครงสร้างของดินโปร่ง ระบายน้ำเร็ว หรือปริมาณน้ำไม่เพียงพอ นำส่วนของดินล่างผสมปุ๊ยคอก 1 ปีบ ผสมหินร็อคฟอสเฟต 200-500 กรัม คลุกเคล้าให้ทั่วใส่กลบลงในหลุมปลูกจนเกือบเต็ม ทิ้งไว้จนถึงฤดูปลูก

วิธีการปลูก

หน่อพันธุ์ ควรตัดรากเดิมออกก่อนนำลงปลูกในหลุมที่ผสมดินใส่ไว้เกือบเต็ม ใช้ดินส่วนที่เหลือลงกลบหน่อพันธุ์กดดินให้แน่นแต่ไม่ควรให้ดินกลบโคนหน่อ ซึ่งดินอาจรัดโคนหน่อ ทำให้การพัฒนาการเจริญเติบโตช้า

การดูแลรักษาสวนมะพร้าวน้ำหอม

  • การใส่ปุ๋ย

ปีที่ 1 หลังปลูกมะพร้าวไปแล้ว 4 เดือน เริ่มให้ปุ๋ยครั้งแรกโดยใช้ปุยเคมีสูตร 13-13-21 , 12-12-17-2 อัตราต้นละ 1 กก. + แมกนีเซี่ยมซัลเฟต 200 กรัม ครั้งที่ 2 ใส่ในอัตราเดิมในช่วงปลายฤดูฝน

ปีที่ 2 ใส่ปุยเคมีสูตร 13-13-21 , 12-12-17-2 อัตรา 2กก./ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 300 กรัม/ต้น/ปี โโลไมท์ 1กก/ต้น/ปี

ปีที่ 3 ใส่ปุยเคมีสูตร 13-13-21 , 12-12-17-2 อัตรา 3 กก./ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 400 กรัม/ต้น/ปี โดโลไมท์ 2 กก/ต้น/ปี

ปีที่ 4 ขึ้นไป ใส่ปุย13-13-21 , 12-12-17-2 อัตรา 4 กก/ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 500กรัม/ต้น/ปี โดโลไมท์ 2 กก/ต้น/ปีการใส่ปุ๋ยมะพร้าวน้ำหอม ให้แบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง หว่านปุ๋ยรอบๆ บริเวณทรงพุ่มพรวนดินตื้นๆกลบปุ้ยรอบทรงพุ่ม

  • การให้น้ำ

    น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำสวนมะพร้าวน้ำหอมในฤดูแล้งหากฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกัน 1-2 เดือน ต้องมีการให้น้ำ

  • การกำจัดและควบคุมวัชพืช

    ควรกำจัดวัชพืช จำพวกหญ้าคาและวัชพืชที่แย่งน้ำแย่งอาหารอื่นๆบริเวณรอบโคนต้นให้หมด

  • การเพิ่มอินทรียวัตถุ

    อินทรีย์วัตถุเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ต้องการอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง ควรใส่ปัยคอก ปุ๋ยหมัก ร่วมกับปุ๋ยเคมีอย่างน้อยปีละครั้ง หรือปีเว้นปี ขึ้นอยู่กับสภาพดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด

แมลงศัตรูมะพร้าวและการป้องกันกำจัด

  • ด้วงแรด
    ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยจะเจาะใบมะพร้าวที่บริเวณโคนทางใบที่ 2 หรือที่ 3 ทะลเข้าไปถึงยอดอ่อนตรงกลางหรือทำลายบริเวณยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทำให้ใบมะพร้าวที่คลี่แตกใบใหม่ขาดแหว่งมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายถูกกรรไกรตัด ถ้าด้วงกัดกินทางใบจะทำให้ทางใบพับ มะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต และอาจเป็นเหตุให้โรคและแมลงศัตรูชนิดอื่นเข้าทำลายต่อไป
  • การป้องกันกำจัด
    • โดยวิธีเขตกรรม คือ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยเผาหรือฝังซากตอหรือลำต้นของมะพร้าว และเกลี่ยกองซากพืชหรือกองมูลสัตว์ ให้กระจายออกโดยมีความหนาไม่เกิน 15 ซม.
    • โดยชีววิธี โดยใช้เชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae)สร้างกับดักราเขียวโดย ใช้ขุยมะพร้าวที่หมักแล้วผสมกับหัวเชื้อราเขียวเพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายและตายในที่สุด
    • ใช้ทรายหรือสารคาร์บาริล (เซฟวิน 85%WP) ผสมขี้เลื่อยในอัตราสารฆ่าแมลง 1 ส่วน ต่อ ขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกโคนทางใบเดือนละครั้ง หรืออาจใช้สารไล่แนพทาลีนบอล (ลูกเหม็น) อัตรา 6-8 ลูกต่อต้นโดยใส่ไว้ในซอกโคนทางใบ
  • ด้วงงวง
    ลักษณะการทำลาย ด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอมะพร้าวและพบบ้างที่โคนลำต้น ทำให้ต้นตาย อาการบ่งชี้ที่แสดงว่าต้นถูกด้วงงวงทำลาย คือ ยอดอ่อนเหี่ยวแห้งใบเหลือง
  • การป้องกันกำจัด
    • ป้องกันกำจัดด้วงแรดอย่าให้เข้าทำลายมะพร้าวเพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงเข้าวางไข่และทำลายจนต้นตายได้
    • ดูแลทำความสะอาดแปลงมะพร้าว ถ้าพบมีการทำลายให้ใช้สารฆ่าแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 40 % EC) อัตรา 80 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร
    • ทำลายต้นมะพร้าวที่มีหนอนด้วงงวงอยู่ หรือทำลายตัวหนอนเพื่อมิให้แพร่พันธุ์ต่อไป
  • แมลงดำหนามลักษณะการทำลาย ทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะกัดกินยอดอ่อนที่สุดของใบมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดอ่อนของ          มะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีการทำลายรุนแรงจะมองเห็นยอดเป็นสีขาวโพลนชัดเจน การระบาดทำลายได้ทั้งมะพร้าวต้นเล็กและต้นสูงที่ให้ผลผลิตแล้ว
  • การควบคุมและการป้องกันกำจัด
    • การควบคุมโดยชีววิธี ใช้แตนเบียน (Asecodes hispinarum Boucek) ในการควบคุม โดยแตนเบียนเพศเมียจะเข้าทำลายหนอนแมลงดำหนาม
    • การใช้สารเคมี ใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยและสลายตัวเร็วเช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85%WP) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในแปลงเพาะชำ หรือต้นเล็ก
  • การเก็บเกี่ยว
           โดยทั่วไปหากมีการดูแลรักษาสวนที่ดีให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ มะพร้าวจะออกจั่นเร็ว อายุประมาณ 3 ปีเศษ ก็เริ่มทะยอยเก็บผลผลิตได้แล้ว มะพร้าวน้ำหอมจะเริ่มเก็บผลอ่อนได้เมื่ออายุ 7 เดือน หรือประมาณ 190-200 วัน น้ำมะพร้าวในระยะนี้จะหวานและหอมเนื้อจะนุ่มเหมาะต่อการบริโภค เกษตรกรชาวสวนจะสังเกตโดยดูสีผลรอบกลีบเลี้ยงมีวงสีขาวล้อมรอบเพียงเล็กน้อย หรือดูทะลายอ่อนที่อยู่เหนือเยื้องทะลายที่จะตัดมีขนาดใหญ่กว่ากำปั้นเล็กน้อย เกษตรกรบางรายจะนับวันหลังจากตัดทะลายแรกผ่านไป 20 วัน จึงเริ่มตัดทะลายถัดมา นอกจากนี้อาจใช้วิธีสังเกตหางหนู หรือดีดผล





ที่มา : ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , https://www.doa.go.th/hc/chumphon


บทความอื่นที่น่าสนใจ