พริกพันธุ์เดือยไก่ พริกพันธุ์พื้นเมืองภาคใต้
พริกพันธุ์เดือยไก่
พริกพันธุ์เดือยไก่ เป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองของภาคใต้พบได้ในหลายจังหวัด เช่น พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ฯลฯ ปัจจุบันเกษตรกรที่ทำการปลูกพริกในจังหวัดทางภาคใต้ นิยมปลูกพริกพันธุ์เดือยไก่มากกว่าพริกพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากมีรสเผ็ดจัด มีกลิ่นหอมไม่เหม็นเขียว ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และนิยมนำไปทำเครื่องแกง ในช่วงแรกมีจำหน่ายตามตลาดนัด หรือตลาดในชุมชนแต่ปัจจุบันมีจำหน่ายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้
ลักษณะประจำพันธุ์
- ลำต้นแข็งแรง และทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศในเขตร้อน
- ลักษณะทรงพุ่มปานกลาง แตกแขนง มีผลดก
- ผลสีขาวอมเหลือง เรียวคล้ายเดือยไก่ ยาว 5-6 เชนติเมตร เริ่มสุกจะเป็นสีแดง-ส้ม กลิ่นหอม และรสเผ็ดจัด อายุเก็บเกี่ยว 70-90 วัน ให้ผลผลิต 1-2 ปี
- ให้ผลผลิตตลอดอายุการเก็บเกี่ยว เฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัมต่อต้น
การคัดเลือกและการขยายพันธุ์
- คัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากต้นที่เจริญเติบโตดี ปราศจากโรคและแมลง
- ให้ผลผลิตต่อต้นสูง มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
- เพาะเมล็ดพันธุ์ในโรงเรือนปลอดโรค ต้นกล้าสมบูรณ์ แข็งแรง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
- เป็นที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงตลอดวัน
- เจริญได้ดีในดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุสูง ดินมีการระบายน้ำได้ดี
- ค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดิน 6.0 – 6.8
การปลูกและการดูแลรักษา
การเตรียมดิน
ไถดินลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร ตากแดดไว้2 – 3 สัปดาห์ ใส่ปูนขาว 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 3,000 – 4,000 กิโลกรัมต่อไร่
การปลูก
- หลุมปลูก ขนาด 25x25x30 เชนติเมตร
- ระยะปลูก 100×100 เชนติเมตร
- รองกันหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 50 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนปลูก 2-3 วัน
การย้ายกล้า
นำต้นกล้าพริกที่สมบูรณ์แข็งแรง อายุ 30-40 วันสูงประมาณ 10-15 เชนติเมตร ย้ายจากภาชนะเพาะเมล็ดลงถาดหลุม การย้ายกล้าควรทำตอนบ่าย แสงแดดไม่ร้อนจัดหรือช่วงอากาศมืดครึ้ม
การให้น้ำ
ปลูกเสร็จให้รดน้ำทันที ระยะแรกให้น้ำทุกวัน ในระยะ 1 เดือน แรกหลังย้ายปลูก ให้น้ำเพียงพอและสม่ำเสมอ ระยะที่พริกเริ่มออกดอก ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้น เมื่อผลเริ่มแก่และเริ่มเก็บเกี่ยว ลดการให้น้ำลง
การใสปุ๋ย
ปุ๋ย อัตราส่วน
- ปุ๋ยอินทรีย์ 500 กรัม/หลุม หรือ 2-4 ตัน/ไร่
- ปุ๋ยเคมี 25 กก./ไร่
- สูตร 12-24-12 (เมื่ออายุ 15-20 วัน หลังปลูก)
การพรวนดินและกำจัดวัชพืช
การพรวนดินและกำจัดวัชพืชต้องทำพร้อมกัน ระยะที่ต้นพริกยังเล็กควรพรวนดินพูนโคนบ่อยครั้งเพื่อให้ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี เมื่อพริกเจริญเติบโตจนคลุมดินแล้ว ไม่ต้องพรวนดินอีก สำหรับการกำจัดวัชพืชควรปฏิบัติบ่อยๆ ในระยะแรกจนกว่าทรงพุ่มจะแผ่คลุมดิน
การเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 70-90 วัน เลือกผลที่มีสีขาวอมส้ม ควรปลิดทั้งก้านผล เก็บเกี่ยวได้ทุก 5-7 วัน
โรคและแมลง
โรคกุ้งแห้ง (แอนแทรกโนส)
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp. ระบาดมาก ในระยะที่ผลพริกกำลังเจริญเติบโต
- ลักษณะอาการ ผลมีแผลใหญ่หรืออาจเน่าเสียก่อนเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะพื้นที่มีความชื้นสูงหรือฝนตกชุก
- การป้องกันกำจัด คัดเมล็ดพันธุ์จากพริกที่ไม่เป็นโรคไปปลูก คลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตราส่วนเชื้อรา 1 ช้อนโต๊ะ ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เบนโนมิลตามที่ฉลากแนะนำ
โรคราน้ำค้าง
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Peronospora tabacina
- ลักษณะอาการ ด้านบนของใบจะเกิดแผลจุดเซลล์ตายสีเหลืองด้านใต้ตรงกับแผลจะพบกลุ่มเส้นใยและสปอร์สีขาวหรือเทา
- การป้องกันกำจัด หลังเก็บเกี่ยวผล ควรทำลายต้นพริก พืชอาศัย และวัชพืชให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก เมื่อเกิดโรคหรือสภาพแวดล้อมเหมาะต่อการเกิดโรค ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น คาร์เบนดาซิม ในอัตรา 50-70 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทุกๆ 7-10 วัน ถ้าโรคระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นทุก 4-5 วันต่อครั้ง
โรคกล้าเน่า
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Pythium sp. อาจติดมาจากภายนอกหรือภายในเมล็ดพันธุ์
- ลักษณะอาการ มีแผลที่ใบเลี้ยง ลำต้นหรือรากก่อนต้นกล้าจะเหี่ยวแห้งตาย
- การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาอัตราส่วน เชื้อรา 1 ซ้อนโต๊ะ ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เมื่อพบโรคควรขุดตันกล้าที่เป็นโรคและต้นรอบๆ ใส่ถุงพลาสติก นำออกไปเผาทิ้งนอกแปลง คลุกหรือราดดินบริเวณนั้นด้วยเมตาแลกชิล ผสมกับ แมนโคเชบ หรือใช้เชื้อราไตโคเดอร์มา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
เพลี้ยอ่อน
- การเข้าทำลาย ดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนของพริก ใบส่วนยอดจะเรียวเล็ก หงิกและยังเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสมายังต้นพริก
- การป้องกันกำจัด ต้นพริกที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดให้ถอน นำไปทำลายโดยการเผาไฟ ใช้เชื้อราบิววาเรียฉีดพ่นเป็นประจำ การใช้สารเคมี เช่น อิมิดาโคลพริด ไดโนทีฟูแรน ฟิโปรนิล ตามที่ฉลากแนะนำ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ โทร.075-656388 โทรสาร 075-656399 E-mail : aopdh10@doae.go.th, www.withikaset.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ