เกษตรกรรม » การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพาะง่ายประหยัดต้นทุน

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพาะง่ายประหยัดต้นทุน

8 กุมภาพันธ์ 2024
845   0

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพาะง่ายประหยัดต้นทุน

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย





ลักษณะของการเพาะเห็ดฟาง

การเพาะเห็ดฟางมีหลายวิธีคือ การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย การเพาะเห็ดฟางจากเปลือกฝักถั่ว การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน หรืออุตสาหกรรม เป็นต้น

การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูงนั้น ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมทำกันนัก เพราะใช้เวลาการเพาะนาน อีกทั้งต้องเสียเวลาในการ ดูแลรักษานานอีกด้วย ส่วนวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยนั้น กำลังเป็นที่นิยมมาก เพราะมีวิธีทำที่ง่าย ทั้งวัสดุที่ใช้เพาะก็หาได้ง่าย และผลผลิตที่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ในที่นี้จะกล่าวรายละเอียดเฉพาะการ เพาะแบบกองเตี้ยเท่านั้น

วัสดุอุปกรณ์

  • เชื้อเห็ดฟาง
  • วัสดุเพาะ ได้แก่ ฟางข้าว ตอซัง กากมันสำปะหลัง ผักตบชวา ชานอ้อย ทลายปาล์มน้ำมัน เปลือกถั่วเขียว ขี้เลื่อยจากการเพาะเห็ดถุงพลาสติก
  • อาหารเสริมเห็ดฟาง ได้แก่ ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ต้นกล้วยสับตากแห้ง รำข้าว ละอองข้าว หรืออาหารเสริมสำเร็จที่มีขายโดยทั่วไป
  • ปุ๋ยคอก เช่น มูลหมู มูลไก่ มูลวัว มูลควาย เป็นอาหารเสริมเห็ดได้ โดยใช้ปุ๋ยคอกที่แห้งและมีอายุข้ามปีผสมกับดินขุยไผ่ซึ่งมีอินทรีย์วัสดุสูง ในปริมาตรของปุ๋ยคอกกับดินในอัตราส่วน 1:10 ส่วน
  • ผ้าพลาสติกใส
  • แบบพิมพ์เห็ดฟาง มีลักษณะสี่เหลี่ยมคางหมูมีความกว้างด้านบน 30 เซนติเมตร มีความกว้างด้านล่าง 40 เซนติเมตร ความสูง 40 เซนติเมตร และมีความยาว 120 เซนติเมตร
  • มีดและบัวรดน้ำ

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

ขั้นตอนการเพาะ

1. นำพางข้าวหรือตอซังแช่น้ำให้อิ่มตัวประมาณ 1 คืนหรือตอซังจะแช่นาน 4-6 ชั่วโมง

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

2. ปรับพื้นที่ดินให้เรียบถ้ามีการไถพรวนได้ก็จะดีที่สุดและรดน้ำให้ชุ่ม แล้ววางแบบพิมพ์ลงบนพื้นดินในลักษณะตามตะวันทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

3. นำฟางหรือตอซังขึ้นจากน้ำและนำมาใส่ลงในแบบพิมพ์ให้หนา 10-15 เซนติเมตร ใช้มือกดให้แน่นโดยรองใบตองเหยียบบนฟาง ใส่อาหารเสริมลงไปโดยรอบข้าง ๆ ทั้งสี่ด้าน โรยหัวเชื้อเห็ดฟางลงบนอาหารเสริม รอบทั้งสี่ด้านเช่นเดียวกัน ห่างจากขอบกองประมาณ 1 ฝ่ามือ โดยหัวเชื้อเห็ดที่ใช้ควรขยี้ให้แตกร่วนออกจากกันและแบ่งหัวเชื้อออกเป็น 4 ส่วน เพื่อใช้โรยในแต่ละชั้น เมื่อโรยหัวเชื้อส่วนแรกไปแล้วก็จะเสร็จในชั้นที่ 1

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

4. ในชั้นต่อไปก็จะนำฟางข้าวหรือตอซังมาใส่ให้หนา 10-15 เซนติเมตร และใส่อาหารเสริม โรยหัวเชื้อเห็ดจนเสร็จเป็นชั้น ๆ ในฤดูร้อนจะทำ 4 ชั้น ในฤดูหนาวทำ 5 ชั้น กองฟางจะมีความสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร

5. เมื่อเสร็จชั้นสุดท้ายแล้วใช้ฟางข้าวหรือตอซังมาใส่หนาประมาณ 5 เซนติเมตร ใช้มือกดให้แน่น รดด้วยน้ำสะอาดและถอดแบบพิมพ์ออก เพื่อเพาะเห็ดกองต่อไปให้มีความห่างระหว่างกอง 15 เซนติเมตร (ถ้ากองฟางชิดกันมากจะทำให้เก็บผลผลิตยากแต่ถ้ากองฟางห่างกันเกินไปจะทำให้เปลืองพื้นที่และพลาสติกที่ใช้คลุมอาจทำให้ภายในกองฟางไม่ร้อนพอทำให้เห็ดอกดอกช้าลง)

6. คลุมทับกองฟางด้วยผ้าพลาสติกใส โดยใช้พลาสติก 2 ผืน คลุมทับเหลื่อมกันไว้ตรงกลางกอง หาไม้หรือก้อนดินทับชายพลาสติกไว้โดยรอบกอง จากนั้นใช้แผงฟางหรือหญ้าคาคลุมทับกองฟางอีกครั้งหนึ่งเพื่อพรางแสง กองฟาง 10 กอง เรียกว่า 1 แปลง

หมายเหตุ ในฤดูร้อนจะใช้เวลาในการเพาะ 8-10 วัน ในฤดูหนาวจะใช้เวลาในการเพาะ 15 – 20 วัน

การดูแลรักษา

ในฤดูร้อนกองเห็ดฟางได้รับแสงจัดจะสะสมความร้อนภายในกอง ควรมีการระบายอากาศให้ถ่ายเทในวันที่ 6 ของการเพาะโดยการเปิดชายพลาสติกโดยรอบในช่วงเย็นประมาณ 5 นาที จะทำให้อุณหภูมิภายในกองฟางลดลง และเป็นการกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดฟางรวมตัวเปิดดอกเห็ดเร็วขึ้น ในระยะแรกอุณหภูมิภายในกองฟาง ควรมีอุณหภูมิที่ 32-38 องศาเซลเซียส เมื่อมีการระบายอากาศจะทำให้อุณหภูมิภายในกองลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ในวันที่ 8 เส้นใยก็จะรวมตัวกันเป็นดอกเห็ดสามารถเก็บผลผลิตได้ในวันที่ 10 เป็นต้นไป ส่วนในฤดูหนาวมีอุณหภูมิต่ำจะไม่มีการเปิดกองระบายอากาศจะใช้เวลาในการเพาะนานประมาณ 15-20 วัน

ระยะการเจริญเติบโต การเจริญเติบโตของเห็ดฟาง จะมีอยู่ด้วยกัน 6 ระยะดังนี้

  1. ระยะหัวเข็มหมุด
  2. ระยะกระดุมเล็ก
  3. ระยะกระดุมใหญ่
  4. ระยะรูปไข่
  5. ระยะยืดยาว
  6. ระยะดอกบานหรือระยะแก่

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ดอกเห็ดฟางที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวควรอยู่ในระยะดอกตูมรูปไข่ จะได้ราคาดี วิธีการเก็บจะใช้มือจับดอกเห็ดกดลงเล็กน้อย และหมุนจนดอกเห็ดหลุดออกจากวัสดุเพาะและไม่ควรให้กระเทือนถึงดอกเล็ก ๆ ในกองเพาะจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อได้ ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวถ้ามีการเพาะหลายแปลงจะเก็บในช่วงกลางคืนและช่วงเย็น เมื่อเก็บดอกเห็ดมาแล้ว จะทำการตัดแต่งทำความสะอาดโคนเห็ด เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกออก และส่งตลาดต่อไป เห็ดฟาง 1 กอง จะได้ผลผลิตประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม

ศึกษามูลเพิ่มเติมได้ที่ | ฐานเรียนรู้การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ สาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้




บทความอื่นที่น่าสนใจ