การปลูกผักสวนดรัว ไว้สำหรับรับประทานภายในครอบครัว
การปลูกผักสวนดรัว
หลักปฏิบัติเบื้องต้น ในการปลูกผักสวนดรัวผักสวนครัว คือ ผักที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือที่ว่างต่าง ๆ ในชุมชนต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลูกไว้สำหรับรับประทานเอง ภายในครอบครัวหรือชุมชน การปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานจะทำให้ผู้ปลูกได้รับประทานผักสดที่อุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ มีความปลอดภัยจากสารเคมีลดรายจ่ายในครัวเรือนและที่สำคัญทำให้สมาชิกในครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกันในการปลูกผักเพื่อเกิดสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว โดยทั่วไปคนต้องมีการบริโภคผักอย่างน้อย วันละ 200 กรัม เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน
ประโยชน์ของ การปลูกผักสวนครัว
- ปลูกเป็นรั้วบ้าน ( รั้วกินได้ ผักที่สามารถนำมาปลูกเป็นทำเป็นรั้ว ได้แก่กระดินบ้าน ชะอม ตำลึง ผักหวาน ผักปลัง ต้นแค ถั่วพู มะระ ฯลฯ ซึ่งเป็นผักที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตตลอดปีมีคุณค่าทางอาหารสูงและปลอดภัยจากสารเคมี
- สามารถใช้ประดับตกแต่งบริเวณบ้าน เช่น จัดสวนผักสวนครัว การปลูกต้นแคเป็นรั้วกินได้ การนำผักสวนครัวที่ปลูกในกระถางแบบแขวน – ห้อย มาตกแต่งบริเวณรอบ ๆ
- บ้านใช้พื้นที่ส่วนที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักมาประกอบอาหารประจำวัน
- ครอบครัวได้รับประทานผักที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนและปลอดภัยจากสารเคมี
- สร้างความสัมพันธ์และสานสายใยรักที่ดีในครอบครัวและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ข้อพิจารณาในการปลูกผักสวนครัว
1. การเลือกสถานที่หรือทำเลปลูก
ควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ใกล้แหล่งน้ำไม่ไกลจากที่พักอาศัยมากนัก เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านการปลูก การดูแลรักษา และสะดวกในการเก็บ มาประกอบอาหารได้ทันทีตามความต้องการ
2. การเลือกประเภทผักสำหรับปลูก
ควรเลือกปลูกผักให้มากชนิดที่สุด เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารที่หลากหลาย เป็นผักที่สมาชิกในครอบครัวชอบบริโภคและเลือกปลูกผักให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและปลูกให้ตรงกับฤดูกาล
3. สภาพแสงและร่มเงา
มีความจำเป็นในการสังเคราะห์แสงของพืช เพื่อสร้างอาหาร ปริมาณแสงที่ได้รับ ในพื้นที่ปลูกแต่ละวันนั้น จะมีผลต่อชนิดของผักที่ปลูก แบ่งความต้องการแสงในการปลูกผัก
4. ความพร้อมของผู้ปลูก
- ผู้ปลูกควรกำหนดว่าจะปลูกผักโดยมีวัตถุประสงค์อะไร เช่น ปลูกเพื่อต้องการได้ผักมาบริโภคประจำวัน ปลูกเพื่องานอดิเรก ปลูกเพื่อจัดสวนตกแต่งบริเวณบ้าน
- ผู้ปลูกต้องมีความรู้ ความเข้าใจธรรมชาติของผัก วิธีการปลูกผักตลอดจนการแรงงานในการปลูกผักดูแลรักษา
- ควรมีแรงงานในการดูแลรักษาเฉลี่ยวันละประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง เนื่องจากผักสวนครัวต้องการความพิถีพิถันในการดูแลรักษา
- ความชำนาญในการปลูกผัก การปลูกให้ได้ผลผลิตดี ผู้ปลูกจำเป็นต้องมีความชำนาญ รู้จักสังเกตในการเจริญเติบโตของผัก และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
5. ชนิดของผักที่จะปลูก
ผักแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในเรื่องอายุการเก็บเกี่ยว และฤดูกาลเพาะปลูก การวางแผน การปลูกที่เหมาะสม จะทำให้มีผลผลิตผักออกสม่ำเสมอและใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่
6. ฤดูกาล
ควรเลือกปลูกผักสวนครัวให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพราะจะทำให้ดูแลรักษาง่ายได้ผักที่มีคุณภาพ ผลผลิตดี มีโรคและแมลงรบกวนน้อย ฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกพืชผักแต่ละชนิด
วิธีการปลูกผักสวนครัว
การเตรียมดิน
ผักสามารถปลูกได้ทั้งในพื้นดินโดยตรงหรือหากไม่มีที่ดินเพียงพอก็สามารถปลูกได้ในภาชนะต่าง ๆ ที่มีความลึกตั้งแต่ 20 เซนติเมตร ขึ้นไป เพื่อให้รากสามารถหยั่งลงไปใน วัสดุปลูกได้ สำหรับความกว้างของภาชนะขึ้นกับชนิดผักที่จะปลูก
- การเตรียมดินสำหรับปลูกในภาชนะ
ใช้ ดิน : แกลบ : ปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 1 : 1 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำเพื่อให้มีความชื้น สังเกตได้จากสามารถกำวัสดุปลูกเป็นก้อนได้
- การเตรียมดินสำหรับการปลูกในพื้นที่ว่างหรือในแปลง
– พรวนดิน ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7 – 15 วัน
– ยกแปลงสูงประมาณ 4 – 5 นิ้ว กว้างประมาณ 1 – 1.20 เมตร ส่วนความยาวตามลักษณะของพื้นที่ ควรอยู่ในแนวทิศเหนือ/ใต้ เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วทั้งแปลง
– ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 2 – 3 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร
การปลูก
การปลูกด้วยเมล็ด สำหรับผักโดยทั่วไป เช่น พริก มะเขือ คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ผักกาดหัว ถั่วฝักยาว และแตงกวา ต้องใช้เมล็ดปลูก การใช้เมล็ดปลูกทำได้ 3 วิธี คือ
– การเพาะกล้าก่อนแล้วจึงย้ายปลูก สำหรับผักที่เมล็ดมีราคาแพงต้องการดูแลเอาใจใส่มาก หรือในช่วงที่เว้นปลูกมีฝนตกชุก การเพาะ และย้ายปลูก อาจทำให้สามารถดูแลต้นกล้าให้แข็งแรงได้ ก่อนย้ายปลูกลงในแปลงปลูก
– การหว่านเมล็ดโดยตรงในแปลงปลูก และเมื่อต้นกล้าโตทำการถอนแยกต้นที่แน่นเกินไปออก เพื่อจัดระยะปลูก วิธีนี้หากผู้ปลูกไม่ชำนาญอาจทำให้สิ้นเปลืองเมล็ด และเมล็ดอาจกระจายตัวไม่ดีจะทำให้ผักขึ้นเป็นกระจุก มีวิธีแก้โดยอาจใช้เมล็ดผสมกับทรายและหว่านเมล็ด จะทำให้เมล็ดตกกระจายดีขึ้น
– การปลูกในหลุมปลูกโดยตรง ใช้กับผักที่มีเมล็ดใหญ่ เช่น ข้าวโพด ถั่วฝักยาว แตงกวา หรือผักที่ใช้ส่วนของรากรับประทาน เช่น ผักกาด หัวแครอท
การดูแลรักษา
- การให้น้ำ พืชผักเป็นพืชอายุสั้น ระบบรากตื้น ต้องการน้ำสม่ำเสมอทุกระยะการเจริญเติบโต ต้องให้น้ำทุกวัน แต่ระวังอย่าแฉะหรือมีน้ำขัง เพราะน้ำจะเข้าไปแทนที่อากาศในดิน ทำให้รากพืชขาดออกชิเจนและเน่าตายได้ ควรรดน้ำในช่วงเช้า – เย็น ไม่ควรรดน้ำตอนแดดจัด
- การให้ปุ๋ย มี 2 ระยะ คือ
-
- ปุ๋ยรองพื้น ใส่ช่วงเตรียมดิน หรือรองกันหลุมก่อนปลูก ควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุย ช่วยในการอุ้มน้ำและรักษาความชื้นของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช
- ปุ๋ยบำรุง ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อย้ายกล้าไปปลูกจนกล้าตั้งตัวได้แล้ว และใส่ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ การใส่ให้โรยบาง ๆ ระหว่างแถว ระวังอย่าให้ปุ๋ยอยู่ชิดต้น เพราะจะทำให้ผักตายได้ เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วควรพรวนดินและรดน้ำทันที ปุ๋ยที่มักใช้กับพืชผัก ได้แก่ ยูเรียแอมโมนียมซัลเฟต สำหรับบำรุงต้นและใบ และปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 และ12 – 24 – 12 สำหรับเร่งการออกดอกและผล
-
การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
การป้องกันกำจัดแมลงที่ปลอดภัย ทำได้หลายวิธี ดังนี้
-
- ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง สามารถดักแมลงได้หลายชนิด เช่นเพลี้ยอ่อน หนอนแมลงวันชอนใบ โดยติดตั้ง 1 – 2 อันต่อแปลง สูงจากพื้นดินประมาณ 50 ซม. โดยปัจจุบันถุงพลาสติกสีเหลืองและกาวเหนียวมีขายทั่วไปตามร้านขายวัสดุการเกษตร
- ใช้กับดักแสงไฟ ซึ่งอาจเป็นกับดักแมลงชนิดขดลวดไฟฟ้า ทำลายแมลงโดยตรงเช่นเดียวกับที่ดักยุงตามบ้าน หรืออาจเป็นเพียงหลอดไฟสีน้ำเงินล่อตัวแก่ของหนอนผีเสื้อกลางคืนมาตกลงในภาชนะที่ใส่น้ำ และน้ำมัน
- ใช้สารสกัดจากสะเดา เป็นทั้งสารไล่แมลงและฆ่าแมลงโดยตรง
- การใช้สารสกัดจากพืชอื่น ๆเช่น โล่ติ้น สารสกัดจากหนอนตายหยากและนิโคตินจากยาสูบ หรือยาฉุน สามารถหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด ใช้ยาฉุน 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน นำมาราด หรือฉีดพ่นฆ่าแมลงได้
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวผัก ควรเก็บในเวลาเช้าจะทำให้ผักสด รสชาติดี และหากยังไม่ได้ใช้ให้ล้างให้สะอาด และนำเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับผักประเภทผลควรเก็บในขณะที่ผลไม่แก่จัดจะได้ผลที่มีรสชาติดี และจะทำให้ผลดก หากปล่อยให้ผลแก่คาต้นต่อไปจะออกผลน้อยลงสำหรับผักใบหลายชนิด เช่น หอมแบ่ง ผักบุ้งจีน ผักคะน้า กะหล่ำปลี การแบ่งเก็บผักที่สดอ่อนหรือโตได้ขนาดแล้ว โดยยังคงเหลือลำต้นและรากไว้ ไม่ถอนออกทั้งต้น รากหรือต้นที่เหลืออยู่จะสามารถงอกงามให้ผลผลิตได้อีกหลายครั้ง ทั้งนี้จะต้องมีการดูแลรักษาให้น้ำและปุ๋ยอยู่เสมอการปลูกพืชหมุนเวียนสลับชนิด หรือปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกันและปลูกผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นบ้าง ยาวบ้างคละกันในแปลงเดียวกัน หรือปลูกผักชนิดเดียวกันแต่ทยอยปลูกครั้งละ 3- 5 ต้น หรือประมาณว่ารับประทานได้ในครอบครัวในแต่ละครั้งที่เก็บเกี่ยว ก็จะทำให้ผู้ปลูกมีผักสด เก็บรับประทานได้ทุกวันตลอดปี
ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร 2551. ” ผักสวนครัว สานสายใยรักแห่งครอบครัว”. กรุงเทพฯ., กรมส่งเสริมการเกษตร
บทความอื่นที่น่าสนใจ