“กระต่ายดำภูพาน” สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ เลี้ยงง่าย ลูกดก
กระต่ายดำภูพาน
กระต่ายดำภูพาน ถือเป็นผลสำเร็จในการพัฒนาสายพันธ์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถูกพัฒนาจากกระต่าย 4 สายพันธุ์ ด้วยกันนั้นก็คือ 1. พันธุ์พื้นเมือง 2. พันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ 3. พันธุ์เยอรมันไจแอนท์ 4. พันธุ์เร็กซ์ เพื่อปรับสภาพให้เหมาะสมกับพื้นที่เลี้ยงมากที่สุด
นอกจาก กระต่ายดำภูพาน แล้วยังมี ไก่ดำ หมูดำ วัวดำ ซึ่งกระต่ายดำภูพาน นับเป็นดำที่ 4 ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร
ลักษณะประจำพันธุ์ กระต่ายดำภูพาน 1
- ขนสีดำ ตัวใหญ่เนื้อเยอะ มีอัตราการเจริญเติบโตได้ดี ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง ทนทานต่อโรคและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
ลักษณะประจำพันธุ์กระต่ายดำภูพาน 2
- ขนสีเทาดำ ตัวใหญ่เนื้อเยอะ มีอัตราการเจริญเติบโตดี ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง ทนทานต่อโรคและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
ลักษณะประจำพันธุ์กระต่ายดำภูพาน 3
- ขนสีน้ำตาลดำ ตัวใหญ่เนื้อเยอะ มีอัตราการเจริญเติบโตดี ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง ทนทานต่อโรคและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
ลักษณะเด่นของกระต่ายดำภูพาน
- ลำตัวยาว โครงสร้างใหญ่ ให้เนื้อเยอะ สามารถให้ลูก 6 – 8 ครอก/ปี โดยให้ลูก 6 – 8 ตัว/ครอก น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย เพศผู้ 5 – 5.5 กิโลกรัม เพศเมีย 4.5 – 5 กิโลกรัม
- เริ่มผสมพันธุ์ตั้งแต่อายุ 7 เดือน ตั้งท้อง เฉลี่ย 31 วัน หลังคลอด 2 วัน แม่พันธุ์จะกลับมาเป็นสัดและยอมรับการผสมพันธุ์
- เนื้อนุ่ม รสชาติดี โปรตีนสูง ไขมันต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต และผู้สูงอายุที่มีปัญหาไขมันอุดตันในเส้นเลือด
- หนัง และขน สามารถนำไปแปรรูป ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม สิ่งประดิษฐ์ สิ่งทอ และเครื่องใช้ต่างๆ
- ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ สามารถใช้อาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น หญ้า ใบหม่อน ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี
การคัดเลือกพันธุ์
การคัดเลือกกระต่ายไว้สำหรับทำพันธุ์มีความสำคัญมาก ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงควรมีแผนการคัดเลือกและจัดเตรียมไว้สำหรับทดแทนกระต่ายที่ควรจะปลดออก เมื่อมีอายุมากขึ้น และสามารถลดต้นทุนในการซื้อพ่อแม่พันธุ์ทดแทนได้ ควรทำการคักเลือกตั้งแต่อายุประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ โดยการคัดเลือกลูกกระต่ายที่โตเร็วแข็งแรง รูปร่างลักษณะดี มีสีขนถูกต้องตามมาตรฐาน
กระต่ายพ่อพันธุ์ที่ดี
มีนิสัยไม่ดุร้าย ให้ลูกอย่างน้อยเฉลี่ย 8 ตัว/ครอก ลูกที่มีอัตราการเจริญเติบโตดี และมีลูกอัณฑะเต็มทั้ง 2 ข้าง ที่สมบรูณ์
กระต่ายแม่พันธุ์ที่ดี
ผสมติดง่าย มีเต้านมตั้งแต่ 8 เต้าขึ้นไป ให้ลูกอย่างน้อยปีละ 8 ครอก/ปี เลี้ยงลูกดี เลี้ยงลูกเก่ง
การผสมพันธุ์กระต่าย
กระต่ายมีช่วงระยะเวลาการเป็นสัดที่ยาวนานกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ประมาณ 15 วัน ควรผสมในวันที่ 5 ของการเป็นสัด โดยนำตัวเมียเข้าหาตัวผู้
ลักษณะอาการเป็นสัด
- กระวนกระวายและเดินวนเวียนรอบกรง
- ใช้เท้าตบพื้นกรง หรือตะกุยข้างกรง
- ใช้คางถูกับท่อให้น้ำบ่อยๆ
- กินน้ำและอาหารลดลง
- ส่งเสียงร้องครวญคราง
- สังเกตุจากอวัยวะเพศ ในวันต้นๆของรอบ การเป็นสัดอวัยวะเพศเมียจะมีสีแดง
ระยะเวลาการตั้งท้อง
การตั้งท้องของกระต่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 31 วัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 28 – 31 วัน หรือคลอดช้าคือ 35 วัน ในกรณีที่แม่กระต่ายตั้งท้องนาน ลูกที่ได้จะมีจำนวนที่น้อยอาจจะมีลูกเพียงตัวเดียว แม่กระต่ายที่มีจำนวนลูกต่อครอกมากระยะการตั้งท้องจะมีแนวโน้มสั้นกว่า
การคลอด
- ผู้เลี้ยงต้องให้แม่กระต่ายอยู่ในพื้นที่สงบ ไม่มีเสียงรบกวน
- 3 วันก่อนคลอด ต้องมีการเตรียมรังคลอดให้แม่กระต่าย โดยใส่วัสดุรองรัง เช่น หญ้าแห้ง หรือฟางข้าว
- แม่กระต่ายใกล้คลอดจะมีพฤติกรรมการกัดขนบริเวณสะโพก เหนียงคอและรอบๆหัวนม เพื่อทำรังให้ลูก
อาหารกระต่าย
- อาหารข้น หมายถึง อาหารที่มีค่าปริมาณโภชนะต่อหน่วยน้ำหนักสูง มีเยื่อใยต่ำกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ อาหารข้นที่สำคัญได้แก่วัตถุดิบอาหารสัตว์หลายชนิด เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวโพด ปลาป่น กากถั่ว กากมะพร้าว เป็นต้น รวมทั้งแร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ
- อาหารหยาบ หมายถึง อาหารที่มีเยื่อใยสูงกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ หรืออาหารที่กินเข้าไปแล้วเหลือกากขับถ่ายออกมาเป็นของเสียมาก เช่น หญ้าขน หญ้าแพงโกล่าหญ้าเนเปิยร์ หญ้ากินนี และพืชตะกลูถั่ว เป็นต้น
บทความอื่นที่น่าสนใจ